การเลือกสถานที่เลี้ยงปลาดุก - กระชัง ปลา-กบ

เราคือ ผู้ผลิต และ จัดจำหน่าย ระชังเลี้ยงปลา-ก
เราคือ ผู้ผลิต และ จัดจำหน่าย กระชังปลา-กบ
เราคื ผู้ผลิต และ จัดจำหน่าย  กระชังเลี้ยงปลาสำเร็จรู
กระชังบกสำหรับเลี้ยงกบ บ่อปลาสำเร็จรูป กระบะเลี้ยงจิ้งหรีด

เราคือ ผู้ผลิตและจัดจำหน่าย  กระชังเลี้ยงปลาสำเร็จรูปกระชังบกสำหรับเลี้ยงกบบ่อปลาสำเร็จรูปกระบะเลี้ยงจิ้งหรีด

Go to content

การเลือกสถานที่เลี้ยงปลาดุก

บทความ > การเพาะและการเลี้ยงปลาดุก
การเลือกสถานที่เลี้ยงปลาดุก
การเลือกสถานที่หรือทำเลเลี้ยงปลานับเป็นสิ่งแรกที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบ และตัดสินใจให้ถูกต้องถึงจุดมุ่งหมายที่จะขุดบ่อเลี้ยงเพื่อเป็นการค้า เพื่อเป็นอาหารในครัวเรือน หรือเพื่องานอดิเรก หากเลือกสถานที่ได้เหมาะสมจะทำให้โอกาสการเลี้ยงปลาประสบความสำเร็จได้สูง และเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายต่างๆลงได้มาก แต่หากเลือกสถานที่เลี้ยงไม่เหมาะสมแล้ว อาจก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย และอาจทำให้การเลี้ยงปลาดุกครั้งนั้นไม่ประสบความสำเร็จก็ได้ การเลือกสถานที่เลี้ยงปลาดุกควรได้พิจารณาถึงปัจจัยต่างๆต่อไปนี้

1. สภาพพื้นที่ สภาพพื้นที่ควรเป็นที่ราบ โดยใช้ดินข้างๆหรือตามขอบบ่อทำเป็นคันดินขึ้นเพื่อเก็บกักน้ำไว้ให้ได้ระดับตามต้องการและน้ำไม่สามารถท่วมถึงได้ พื้นที่ไม่ควรมีก้อนหินหรือต้นไม้ใหญ่ เพราะจะทำให้การขุดบ่อทำได้ยากขึ้นและรั่วซึมได้ง่าย ไม่ควรเป็นที่ดอนมากเกินไปหรือเป็นที่ลุ่มจนน้ำท่วมถึง ทำให้ยากต่อการป้องกันไม่ให้ปลาหนี หากเป็นที่ดอนหรือเป็นโขดเนินทำให้ต้องใช้แรงงานในการขุดดินหรือต้องเปลืองค่าใช้จ่ายในการยกคันบ่อสูง และยังเป็นปัญหาในการกักน้ำให้มีปริมาณตามต้องการอีกด้วย นอกจากนี้พื้นที่จะต้องไม่มีปัญหาต่อการจัดระบบการระบายน้ำเข้าออก

2. ลักษณะและคุณภาพของดิน ลักษณะของดินควรเป็นดินเหนียว หรือดินเหนียวปนทราย เพราะสามารถเก็บกักน้ำได้ดี น้ำมีโอกาสรั่วซึมได้น้อย การทรุดตัวของคันบ่อมีน้อยไม่พังทลายได้ง่าย การดูแลรักษาคันบ่อทำได้ง่าย ต้นทุนการก่อสร้างบ่อจะต่ำกว่าดินชนิดอื่น ประกอบกับพื้นบ่อเป็นแหล่งกำเนิดของอาหารธรรมชาติของปลาได้ดีอีกด้วย เช่น แพลงค์ตอนพีซ แพลงค์ตอนสัตว์ ไรแดง เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งดินที่ใช้ทำเป็นคันบ่อ ซึ่งต้องอาศัยความแข็งแรงคงทนอยู่มาก ถ้าเป็นดินเหนียวปนทรายก็พอจะเก็บกักน้ำได้ แต่อาจรั่วซึมออกได้บ้าง ดังนั้นดินเหนียวเป็นดินที่เหมาะสมที่สุด สำหรับระดับความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) ของดินนั้นมีค่าเท่ากับ 7 จะเหมาะสมที่สุด แต่ดินที่ใช้เลี้ยงปลาได้ดีนั้นมีค่า pH อยู่ระหว่าง 6.5-8.5

3. แหล่งน้ำและคุณภาพของน้ำ น้ำนับเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งที่จะต้องนำมาพิจารณาพร้อมกับการเลือกสถานที่ เพราะปลาจะต้องอาศัย น้ำเป็นที่อยู่อาศัยและการเจริญเติบโต ดังนั้นควรเลือกสถานที่ซึ่งอยู่ใกล้แหล่ง น้ำจืด เช่น แม่น้ำ ลำคลอง อ่างเก็บน้ำ หนอง บึง ห้วย หรืออ่างเก็บน้ำ ชลประทานที่มีน้ำสะอาดและสามารถใช้น้ำได้ตลอดทั้งปี สะดวกแก่การระบายหรือถ่ายเทน้ำในบ่อ และควรได้พิจารณาว่าสถานที่นั้นอยู่ห่างจากโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งอาจระบายเศษกากวัตถุดิบลงในน้ำ ทำให้น้ำเสียมาถึงบ่อเลี้ยงปลาได้
คุณภาพของน้ำก็เป็นปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เกี่ยวข้องสนับสนุนการเลี้ยงปลาให้ได้ผลดี เช่น ความเป็นกรดเป็นด่างของน้ำ เป็นต้น น้ำที่ใช้เลี้ยงปลาดุกควรมีระดับ pH อยู่ระหว่าง 6.5-8.5 ไม่ควรใช้น้ำที่มีระดับ pH ต่ำหรือสูงกว่านี้เลี้ยงปลาดุก แม้ว่าปลาดุกจะเป็นปลาที่มีความอดทนและอาศัยอยู่ได้ก็ตาม แต่จะทำให้ปลาไม่โตเท่าที่ควรและมีอัตราการรอดต่ำ นอก จากนี้น้ำที่จะนำมาเลี้ยงปลาต้องไม่มีมลภาวะเป็นพิษ ไม่มีสารแขวนลอย และอุณหภูมิของน้ำต้องไม่เปลี่ยนแปลงมากและบ่อยครั้งนัก

4. อื่นๆ นอกจากปัจจัยที่ได้กล่าวมาแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นที่จะต้องนำมาประกอบการพิจารณาได้อีก เช่น อยู่ใกล้แหล่งชุมชน ตลาด เพื่อจะได้นำผลผลิตไปจำหน่ายได้สะดวกและได้ราคาสูง อยู่ใกล้เส้นทางคมนาคมที่มียานพาหนะผ่านไปมา สะดวกในการขนส่งอาหาร พันธุ์ปลาและผลผลิตได้รวดเร็ว มีไฟฟ้าเข้าถึงเพื่อสะดวกในการดำเนินงานต่างๆ อยู่ใกล้แหล่งพันธุ์ ปลาดุกในกรณีที่ไม่ได้ทำการผลิตลูกปลาเอง อยู่ในแหล่งอาหารสำเร็จรูป จำหน่ายยาและสารเคมีที่ใช้ป้องกันและกำจัดโรคปลาดุก นอกจากนี้ควรเป็นที่ซึ่งสามารถจ้างเหมาหาแรงงานได้สะดวกและราคาถูก และบริเวณนั้นควรเป็นที่สงบสุข ไม่มีโจรผู้ร้ายและไม่เป็นแหล่งโรคพยาธิ

No comments
Back to content