การฟักไข่ปลาดุก
บทความ > การเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุย > การเพาะพันธู์ปลดดุกบิ๊กอุย
การฟักไข่ปลาดุก
ก่อนที่จะทำการรีดไข่ผสมกับน้ำเชื้อควรจะเตรียมบ่อฟักไข่ให้เรียบร้อยก่อน โดยทำความสะอาดบ่อฟักไข่ด้วยด่างทับทิมหรือฟอร์มาลีนเข้มข้นทิ้งไว้ 1 วัน แล้วเติมน้ำสะอาดให้ได้ระดับสูงประมาณ 20-30 เซนติเมตร นำอวน ไนล่อนสีฟ้าขนาดเบอร์ 20 ไปพาดขึงไว้บนปากบ่อหรือกระชัง ให้ เนื้ออวนจมใต้ผิวน้ำประมาณ 5-10 เซนติเมตร
จากนั้นจึงน้ำไข่ที่ได้รับการผสมกับน้ำเชื้อแล้วมาโรยลงบนอวนไนล่อนสีฟ้า พยายามโรยไข่ให้กระจายไปทั่วอย่างสม่ำเสมอ อย่าให้ไข่กองทับกันเพราะจะทำให้ไข่เสียได้ ในขณะที่โรยไข่นั้นให้ใช้มือแกว่งในน้ำให้เกิดการเคลื่อนไหว ซึ่งจะทำให้ไข่ลอยกระจายไปติดตามที่ต่างๆ ไม่กองสุมทับกัน โดยทั่วไปในพื้นที่ 1 ตารางเมตร
ทางที่ดีในบ่อฟักควรจัดระบบน้ำให้น้ำไหลผ่านอย่างช้าๆอยู่ตลอดเวลา จะช่วยให้ไข่ฟักออกเป็นตัวได้ดีขึ้น เพราะน้ำที่ไหลผ่านจะชะเอาของเสียที่เกิดจากการเจริญของไข่และการเน่าของไข่เสียออกไป หากฟักในบ่อน้ำนิ่งต้องโรยไข่ให้น้อยกว่าปกติ และต้องใช้แอร์ปั้มเพิ่มออกซิเจนในน้ำ และต้องคอยสังเกตน้ำในบ่อ ถ้าน้ำเริ่มขุ่นและมีกลิ่นจะต้องรีบถ่ายทันที
เกษตรกรรายย่อยบางรายอาจจะออกแบบอุปกรณ์ฟักไข่ขนาดเล็กที่มีน้ำไหลผ่าน โดยใช้อุปกรณ์ที่หาง่าย เช่น กะละมัง พลาสติกเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 15 นิ้ว มีน้ำไหลผ่าน 1 ลิตรต่อชั่วโมง จะใช้ฟักไข่แม่ปลาดุกอุยขนาด 200 กรัมได้พอดี
ระดับอุณหภูมิของน้ำจะมีผลต่อระยะเวลาการฟักออกเป็นตัวของไข่ กล่าวคือ น้ำที่มีระดับอุณหภูมิระหว่าง 28-30 เซลเซียส ไข่จะใช้เวลาในการพัฒนาและฟักออกเป็นตัวภายในเวลาประมาณ 21-26 ชั่วโมง และถ้าอุณหภูมิต่ำกว่านี้ระยะเวลาของการฟักออกเป็นตัวจะยาวนานออกไป บางครั้งอาจใช้เวลาถึง 40 ชั่วโมง และถ้าอุณหภูมิสูงกว่านี้ไข่จะฟักออกเป็นตัวเร็วขึ้น แต่ต้องระมัดระวังอย่าให้อุณหภูมิของน้ำสูงกว่า 32 องศาเซลเซียส เพราะจะทำให้ไข่เสียเป็นส่วนใหญ่ ในกรณีที่อุณหภูมิของอากาศสูงมากจำเป็นต้องใช้พัดลมเป่าเหนือบริเวณที่ฟักไข่ เพื่อป้องกันอุณหภูมิของน้ำสูงเกินไป เมื่อเห็นว่าไข่ฟักออกเป็นตัวหมดแล้ว ควรยกอวนไนล่อนที่ใช้สำหรับให้ไข่ติดขึ้นทันที เพื่อป้องกันน้ำเสีย เนื่องจากไข่ที่ฟักไม่ออก ซึ่งแม่ปลาน้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัม สามารถให้ลูกปลาได้ประมาณ 5,000-20,000 ตัว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ ฤดูกาลและความสมบูรณ์ของแม่ปลา
ลูกปลาที่ฟักออกจากไข่ใหม่ๆที่แข็งแรงและสมบูรณ์จะลอด ช่องตาอวนไนล่อนลงไปเกาะเป็นกลุ่มอยู่ตามมุมบ่อหรือก้นกระชัง ในลักษณะหงายท้อง ทำให้เห็นถุงไข่อยู่ข้างบนและส่วนหางจะกระดิกไปมา ส่วนลูกปลาที่อ่อนแอและพิการถูกแยกออกจากกลุ่ม หลังจากฟักออกจากไข่ประมาณ 40 ชั่วโมงลูกปลาจะแข็งแรงมากขึ้น แต่ลูกปลายังไม่ต้องการอาหารจากภายนอก เพราะยังมีอาหารสำรองจากถุงไข่อยู่ ถุงไข่นี้จะยุบตัวหมดภายใน 3 วัน แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระดับอุณหภูมิของน้ำด้วย ถ้าอุณหภูมิของน้ำสูงถุงไข่จะยุบตัวเร็ว แต่ถ้าอุณหภูมิต่ำถุงไข่จะยุบตัวช้า เมื่อถุงไข่ยุบตัวเกือบหมดลูกปลาจะเริ่มกินอาหาร สังเกตได้จากลูกปลาจะเริ่มว่ายน้ำขึ้นมาหาอาหารกินตามผิวน้ำ เมื่อถึงระยะนี้จึงต้องเริ่มให้อาหารแก่ลูกปลา และต้องลดระดับน้ำให้ต่ำลง หากไม่ลดอาจเป็นสาเหตุให้ลูกปลาอ่อนแอเนื่องจากว่ายน้ำขึ้นลงได้
No comments