โรคในกบ
บทความ > การเลี้ยงปลาในกระชัง > การเลี้ยงกบในกระชัง
โรคกบในกบ
ปกติการเลี้ยงกบก็คงไม่ต่างจากสิ่ง มีชีวิตอื่นๆ เมื่อมีการเลี้ยงก็มักจะประสบปัญหาเรื่องโรคที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในบริเวณที่มีการเลี้ยงจำนวนมาก การระบาดของโรคอาจเกิดการแพร่กระจายมากขึ้น สำหรับโรคกบที่พบทั่วไปคือ
1. โรคขาแดง เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ชื่อ แอร์โรโมนาโฮโรฟิลล่า โรคนี้พบบ่อยมาก อาการของโรคขาแดงเกิดจากสภาวะการติดเชื้อ แบคทีเรียแอร์โรโมนาโฮโรฟิลล่า ส่วนใหญ่พบว่ากบที่ติดเชื้อโรคจะไม่กินอาหาร มีน้ำหนักลด ผิวหนังมีสีผิดปกติเคลื่อนไหวช้า เสียการทรงตัว มีอาการโลหิตเป็นพิษ โดยมีจุดเลือดออกตามตัวและมีแผลเกิดขึ้น ระยะสุดท้ายจะมีอาการชักกระตุก และมีผื่นแดงที่โคนขา ซึ่งเป็นลักษณะอาการที่ใช้เรียกชื่อโรคดังกล่าว เมื่อผ่าเปิดซากดูจะพบว่ามีผื่นแดง และจุดเลือดออกเป็นบริเวณกว้างในกล้ามเนื้อรวมทั้งที่อวัยวะภายในช่องอกและช่องท้อง และที่บริเวณเยื่อเมือกจะมีจุดเลือดด้วยเช่นกัน การติดต่อของโรค สามารถติดต่อได้โดยตรงระหว่างกบ โดยที่กบปกติกินกบป่วย หรือการติดต่อที่สำคัญคือทางน้ำที่ใช้เลี้ยงกบ เพราะเชื้อโรคชนิดนี้อาศัยอยู่ในน้ำจืดและจะเจริญได้ดีในอุณหภูมิของน้ำในประเทศไทย
ดังนั้นน้ำที่ใช้เลี้ยงควรเป็นน้ำที่สะอาด และมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำในบ่อเลี้ยงอย่างสม่ำเสมอ และเมื่อมีกบตายในบ่อให้รีบนำออก การใช้อาหารสดเลี้ยงกบต้องระวังอย่าใช้อาหารที่บูด เน่า เพื่อป้องกันการนำเชื้อโรคเข้าไปในบ่อกบ การติดต่ออีกทางที่ควรระวัง คือจากผู้เลี้ยงเองที่ใช้อุปกรณ์ร่วมกันโดยใช้อุปกรณ์จับกบที่ป่วยแล้วไม่ได้ทำความสะอาดนำมาใช้กับกบอื่นๆอีก
การักษา
เนื่องจากโรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ยาที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นยาปฏิชีวนะหรือยาซัลฟา ที่ไวต่อเชื้อนี้ โดยการผสมในอาหารให้กบกิน หรือป้อนยา หรือใส่ยาลงในน้ำ วิธีที่ดีที่สุดคือการให้กินโดยผสมในอาหาร แต่ถ้ากบไม่กินอาหารก็ควรจะใช้วิธีป้อนยา ซึ่งยาที่ใช้อาจเป็นพวกเตทตร้าไซคลิน โดยให้ยาในขนาด 50-100 มิลลิกรัมต่อกบหนัก 1 กิโลกรัม
การป้องกัน
วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันไม่ให้เกิดโรค คือการรักษาความสะอาดอุปกรณ์ต่างๆ ควรมีการฆ่าเชื้อ บ่อควรล้างให้สะอาด และน้ำที่ใช้เปลี่ยนถ่ายควรสะอาดอยู่เสมอ ทุกครั้งที่มีการย้ายบ่อควรพักบ่อตากแดดอย่างน้อย 2-3 วัน เพื่อเป็นการฆ่าเชื้อโรคต่างๆ และถ้ามีการป่วยเกิดขึ้นให้รีบนำกบป่วยออกจากบ่อทันที
No comments