การเลี้ยงปลาในกระชัง
บทความ > ปลาที่เลี้ยงง่าย > ปลานิล
การเลี้ยงปลานิลในกระชัง
การเลี้ยงปลาในกระชังเป็นรูปแบบการเลี้ยงที่ให้ผลผลิตสูง สามารถปล่อยปลาลงเลี้ยงได้หนาแน่น และสะดวกในการดูแลจัดการต่างๆ มีการลงทุนต่ำกว่าการเลี้ยงรูปแบบอื่นๆ ให้ผลตอบแทนสูง และสามารถเลี้ยงปลานิลแบบแปลงเพศหรือรวมเพศก็ได้ โดยไม่มีปัญหาเรื่องการแพร่ขยายพันธุ์
ทำเลที่เหมาะสม การเลือกทำเลมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการเลี้ยงปลานิลในกระชัง เพราะจะส่งผลถึงความสำเร็จของการเลี้ยงปลาเป็นอย่างมาก ปกติแหล่งน้ำที่จะใช้เลี้ยงปลานิลในกระชังควรเป็นแหล่งน้ำที่สะอาดและมีคุณภาพดี ซึ่งการเลี้ยงปลาในกระชังสามารถทำได้ทั้งในอ่างเก็บน้ำ แม่น้ำ ลำคลอง คลองส่งน้ำ เขื่อน หนอง และบึง
สำหรับสิ่งที่ควรนำมาพิจารณาในการเลือกทำเล ได้แก่ การถ่ายเทของกระแสน้ำ ลักษณะของพื้นท้องน้ำและความลึก คุณภาพของน้ำ และต้องห่างไกลจากสิ่งรบกวน
ลักษณะและขนาดกระชัง
กระชังที่ใช้เลี้ยงปลานิลมีรูปทรงต่างๆ เช่น รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า และรูปกลม สำหรับขนาดของกระชังจะแตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้เลี้ยง ขนาดพื้นที่ที่แขวนกระชัง ตลอดจนปัจจัยอื่นๆ แต่ขนาดกระชังที่นิยมใช้โดยทั่วไปคือ กระชังสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่มีขนาดกว้าง 1.2 เมตร ยาว 1.2 เมตร ลึก 2.5 เมตร หรือกว้าง 2 เมตร ยาว 2 เมตร ลึก 2.5 เมตร ส่วนกระชังสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีขนาดกว้าง 4 เมตร ยาว 2 เมตร ลึก 2.5 เมตร ส่วนตาอวนที่ใช้ไม่ควรมีขนาดเล็กกว่า 1.5x1.5 เซนติเมตร เพื่อไม่ให้ขัดขวางการหมุนเวียนของน้ำผ่านกระชัง
อัตราการปล่อย
ในการเลี้ยงปลานิลให้ได้ขนาดตลาดนั้น ผู้เลี้ยงควรใต้คำนึงถึงปัจจัยต่างๆ เช่น ขนาดของปลาที่ตลาดต้องการ และระยะเวลาที่ผลผลิตออกสู่ตลาดในเวลาที่เหมาะสม แล้วจึงย้อนกลับมาพิจารณาเพื่อหาขนาดและจำนวนปลาที่จะปล่อยลงเลี้ยง ซึ่งการพิจารณาอัตราการปล่อยสามารถคำนวณได้จากสูตรต่อไปนี้
อัตราการปล่อย = (ตัวต่อลูกบาศก์เมตร) ผลผลิตที่คาดหวัง (กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) / ขนาดปลาที่ตลาดต้องการ(กิโลกรัมต่อตัว)
โดยที่คาดหวังว่าอัตราการรอดตายของปลาเป็น 100 เปอร์เซ็นต์
แต่อย่างไรก็ตามอัตราการปล่อยปลานิลลงเลี้ยงในกระชังในแหล่งน้ำที่มีคุณภาพน้ำดี สามารถปล่อยปลาได้หนาแน่นคือ อัตรา 40-100 ตัวต่อตารางเมตร โดยให้อาหารสมทบที่เหมาะสม
การให้อาหาร
ควรใช้อาหารที่มีคุณค่าทางโปรตีนค่อนข้างสูง และเหมาะสมกับความต้องการของปลาแต่ละขนาดคือ ลูกปลาวัยอ่อน และลูกปลานิ้วจะต้องการอาหารที่มีโปรตีนประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์ แต่ปลาใหญ่จะต้องการอาหารที่มีโปรตีน 25-30 เปอร์เซ็นต์
ส่วนอาหารที่ให้อาจจะเป็นอาหารเม็ดสำเร็จรูปหรืออาหารสมทบผสม อาหารสมทบที่เหมาะสม ได้แก่ ปลายข้าวหรือมันสำปะหลัง รำข้าว ปลาป่น และพืชผักต่างๆ ส่วนวิธีทำอาหารสมทบผสมดังกล่าว โดยต้มเฉพาะปลายข้าวและมันสำปะหลังให้สุก แล้วนำมาคลุกเคล้ากับ รำ ปลาป่น และพืชผักต่างๆ แล้วปั้นเป็นก้อนเพื่อไม่ให้ละลายน้ำได้ง่าย ก่อนที่ปลาจะกิน
การให้อาหารปลานิลควรให้ครั้งละน้อยๆแต่ให้บ่อยครั้งคือ ประมาณ 4-5 ครั้งต่อวัน สำหรับปริมาณอาหารที่ให้ปลากินจะขึ้นอยู่กับขนาดของปลาและอุณหภูมิของน้ำ หากอุณหภูมิของน้ำสูงขึ้นปลาจะกินอาหารได้มากขึ้น
ปลาขนาดเล็กควรให้อาหารในปริมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักปลา ปลารุ่นให้อาหารสดลงเหลือประมาณ 6-8 เปอร์เซ็นต์ และปลาขนาดใหญ่ให้อาหารเพียง 3-4 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักปลา แต่ควรได้ลุ่มปลามาตรวจสอบน้ำหนักสัปดาห์ละครั้ง เพื่อปรับปริมาณอาหารที่ให้ได้อย่างเหมาะสม ส่วนการจับปลานิลที่เลี้ยงในกระชังควรคำนึงถึงขนาดของปลาและปริมาณที่ตลาดต้องการ
การกำจัดกลิ่น
โดยทั่วไปตัวปลานิลมักจะมีกลิ่นสาบหรือกลิ่นโคลน โดยเฉพาะปลาที่เลี้ยงในบ่อดิน ซึ่งเป็นปัญหาต่อการส่งออกอย่างมาก เพราะไม่เป็นที่ต้องการของตลาด แต่อย่างไรก็ตามกลิ่นโคลนหรือกลิ่นสาบไม่ใช่เป็นกลิ่นถาวร ที่อยู่กับตัวปลาตลอดไป โดยกลิ่นนี้จะหมดไปเมื่อนำปลาไปใส่ไว้ในน้ำสะอาดและงดให้อาหารเป็นเวลา 7 วันที่อุณหภูมิ 24 องศาเซลเซียส
ถ้าอุณหภูมิสูงกว่านี้จะทำให้กลิ่นโคลนหมดไปจากตัวปลาเร็วขึ้น แต่การกำจัดกลิ่นโคลนด้วยวิธีนี้อาจมีผลเสียอยู่บ้างคือ จะทำให้ปลาสูญเสียน้ำหนักไปประมาณ 5-12 เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อคำนึงถึงผลที่จะได้รับแล้วก็ไม่ควรไปเสียดายน้ำหนักที่เสียไปเพียงเล็กน้อย
No comments