การลำเลียงลูกปลา
บทความ > การเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุย > การ-จับ-คัด-นับ-ลำเลียง
การลำเลียงลูกปลา
การลำเลียงลูกปลานับเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพราะลูกปลาที่มีขนาดเล็กและบอบบาง หากลำเลียงไม่ถูกวิธีจะทำให้ลูกปลาตายหรืออ่อนแอต่อโรคทำให้เกิดความเสียหายตามมาได้ เนื่องจากระหว่างการลำเลียงนั้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในเรื่องคุณภาพน้ำ และสรีระของปลาเอง ซึ่งมีผลต่อสุขภาพของปลาทั้งสิ้น
สำหรับวิธีการลำเลียงลูกปลาดุกที่นิยมทำกันในปัจจุบันมี 2 วิธี คือ การลำเลียงโดยใช้ถุงพลาสติกอัดออกซิเจนและโดยการใช้ถัง ส่วนจะเลือกใช้วิธีใดนั้นขึ้นอยู่กับขนาดของลูกปลาและระยะทางในการลำเลียง
1. การลำเลียงโดยใช้ถุงพลาสติกอัดออกซิเจน จำนวนลูกปลาที่ใช้บรรจุเพื่อลำเลียงด้วยวิธีนี้จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับขนาดของลูกปลาและระยะทางการลำเลียง ถุงพลาสติกที่ใช้ลำเลียงมี ขนาดกว้าง 50 เซนติเมตร ยาว 75 เซนติเมตร ใช้ 2 ถุงซ้อนกัน เติมน้ำประมาณ 5 ลิตร สามารถบรรจุลูกปลาดุกขนาด 1-1.5 เซนติเมตรได้ประมาณ 5,000-10,000 ตัว หรือใช้บรรจุลูกปลาดุก ขนาด 2-3 เซนติเมตรได้ประมาณ 700-1,000 ตัว หรือใช้บรรจุลูกปลาดุกขนาด 3-5 เซนติเมตรได้ประมาณ 300-400 ตัว
น้ำที่ใช้ใส่ลงไปในถุงควรเป็นน้ำที่สะอาด ควรใส่เกลือแกง ลงผสมให้มีความเข้มข้น 0.1 เปอร์เซ็นต์ เพื่อช่วยลดความเครียดของลูกปลาลงได้บ้าง เมื่อบรรจุลูกปลาลงในถุงเรียบร้อยแล้วต้อง ตบถุงเพื่อไล่อากาศออกให้หมดก่อน แล้วจึงจุ่มสายยางจากถัง อากาศลงในน้ำที่บรรจุลูกปลา เพื่อให้อากาศละลายน้ำได้ดีขึ้น จากนั้นอัดออกซิเจนให้ถุงพอตึง หลังจากอัดออกซิเจนลงในถุงแล้ว จึงมัดปากถุงให้แน่นโดยวิธีหักคอถุง ลูกปลาจึงพร้อมที่จะถูกลำเลียงไปสู่บ่อเลี้ยง
ในระหว่างการลำเลียงจะต้องควบคุมระดับอุณหภูมิให้ต่ำและคงที่ หรือไม่ให้เปลี่ยนแปลงมากนัก โดยอาจใช้น้ำแข็งหรือ ชี้เลื่อยพรมน้ำรองพื้นหรือใช้ผ้ากระสอบชุบนำคลุมถุงลูกปลาไว้ หรืออาจลำเลียงลูกปลาในช่วงเวลากลางคืนก็ได้ ช่วยลดอัตราการตายของลูกปลาในระหว่างการลำเลียงได้
2. การลำเลียงโดยใช้ถัง ถังหรือที่มักเรียกกันว่า ลังปลา นิยมใช้ลำเลียงลูกปลาดุกขนาด 5-7 เซนติเมตร ลักษณะของลังปลาทำด้วยสังกะสีชนิดหนา ด้านบนเปิดโล่ง รอบลังจะตีเป็นกรงด้วยแผ่นไม้ระแนง ด้านบนส่วนที่เปิดโล่งให้ปิดด้วยไม้ระแนง ประมาณ 1 ใน 3 ของพื้นที่ด้านนี้ และสามารถเปิดปิดได้เพื่อใช้เป็นทางใส่ลูกปลา สำหรับลังปลาที่ใช้ในการลำเลียงลูกปลาดุกมี 2 ขนาดด้วยกันคือ
2.1 ลังปลาขนาดเล็ก มีขนาดความกว้าง 43 เซนติเมตร ความยาว 74 เซนติเมตร และสูง 29 เซนติเมตร สามารถใช้ บรรจุลูกปลาดุกขนาด 5-7 เซนติเมตรได้ประมาณ 3,500 ตัว หรือบรรจุลูกปลาดุกขนาด 3-5 เซนติเมตรได้ประมาณ 10,000 ตัว
2.2 ลังปลาขนาดใหญ่ มีขนาดความกว้าง 51 เซนติเมตร ความยาว 90 เซนติเมตร และสูง 35 เซนติเมตร ซึ่งสามารถใช้บรรจุลูกปลาดุกขนาด 5-7 เซนติเมตรได้ประมาณ 7,000 ตัว แต่ทั้งนี้ภายในลังจะต้องใส่น้ำไว้ให้สูงจากพื้นก้นลังขึ้นมาประมาณ 5 เซนติเมตร
No comments