การคัดขนาดลูกปลา
บทความ > การเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุย > การ-จับ-คัด-นับ-ลำเลียง
การคัดขนาดลูกปลา
ในการอนุบาลลูกปลานั้น หากปล่อยลูกปลาหนาแน่นเกินไปหรือให้อาหารไม่เพียงพอ ลูกปลาจะมีหลายขนาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอนุบาลในบ่อซีเมนต์โดยปล่อยลูกปลาหนาแน่นมากและให้อาหารสำเร็จรูป ลูกปลากินอาหารได้ไม่ทั่วถึง ขนาดของลูกปลาที่ได้จะมีความแตกต่างกัน จึงจำเป็นต้องคัดขนาดลูกปลา ประกอบกับปลาดุกบิ๊กอุยเป็นปลาที่กินกันเอง โดยปลาที่มีขนาดโตกว่าจะกินปลาที่มีขนาดเล็กกว่า การคัดขนาดจึงมีความจำเป็นสำหรับลาดุกบิ๊กอุยอย่างมาก
อุปกรณ์สำหรับคัดขนาดลูกปลาอาจใช้ถังคัดขนาดปลา หรือใช้ผ้าอวนขนาดต่างๆ หรือพลาสติกขนาดตาต่างๆ ทำเป็นกล่อง หรือกระชังคัดขนาดก็ได้ สำหรับลักษณะของถังคัดขนาดปลาเป็นถังพลาสติกรูปทรงกระบอกก้นปิด มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 30 เซนติเมตร เจาะรูโดยรอบถังจากก้นถังขึ้นไปประมาณ 14 นิ้ว และเจาะรูที่ก้นถังด้วย ซึ่งขนาดของรูที่เจาะจะบอกถึงขนาด ความยาวของลูกปลา
ข้อควรระวังคือภายหลังจากเจาะรูแล้วควรตบแต่งรอยเจาะให้เรียบลื่น มิเช่นนั้นอาจทำให้ปลาเกิดการระคายเคืองหรือเกิดบาดแผลได้ สำหรับขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของรูที่เจาะจะเป็นดังนี้
1. ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของรู 0.4 เซนติเมตร จะเป็นการคัดขนาดของลูกปลาที่มีความยาวน้อย 2.5 เซนติเมตร
2. ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของรู 0.6 เซนติเมตร จะเป็น การคัดขนาดของลูกปลาที่มีความยาวระหว่าง 2.5-3.0 เซนติเมตร
3. ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของรู 0.7 เซนติเมตร จะเป็น การคัดขนาดของลูกปลาที่มีความยาวระหว่าง 3.0-5.0 เซนติเมตร
4. ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของรู 0.8 เซนติเมตร จะเป็น การคัดขนาดของลูกปลาที่มีความยาวระหว่าง 5.0-7.0 เซนติเมตร
วิธีคัดขนาดของลูกปลา
โดยผู้คัดจะวางถังคัดขนาดใน ภาชนะบรรจุน้ำ แล้วตักลูกปลาที่ต้องการคัดใส่ลงในถังคัดขนาด จากนั้นขยับถังคัดขนาดไปมาเบาๆ ลูกปลาที่มีขนาดเล็กกว่าขนาด ที่ต้องการจะหนีออกจากถังไป เช่น ถ้าผู้ซื้อต้องการลูกปลาขนาด 3-5 เซนติเมตร ผู้ขายจะใช้ถังคัดขนาดลูกปลาที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของรู 0.7 เซนติเมตร ลูกปลาที่เหลืออยู่ภายในถังหลังจากร่อนแล้วจะเป็นปลาขนาด 3-5 เซนติเมตรตามต้องการ
ส่วนลูกปลาที่ผ่านการคัดขนาดแล้วควรนำไปแช่ในยาเหลืองอัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 1 ลูกบาศก์เมตรทุกครั้ง เพื่อรักษาแผลที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการคัดขนาด และไม่ควรนำปลาชุดเดียวกัน นั้นมาคัดขนาดซ้ำเกิน 2 ครั้ง เพราะจะทำให้ลูกปลาบอบซ้ำมาก ซึ่งการคัดขนาดลูกปลาด้วยอุปกรณ์ดังกล่าวนี้แม้จะไม่ได้ผลถึง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่จะช่วยประหยัดเวลาได้มาก
No comments