การปล่อยปลาและอัตราการปล่อย
บทความ > การเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุย > การเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุยในบ่อดิน
การปล่อยปลาและอัตราการปล่อย
ช่วงที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการปล่อยลูกปลาดุกบิ๊กอุยลงเลี้ยง คือ ตอนเช้าและตอนเย็น เพราะน้ำในบ่อยังไม่ร้อน และในบ่อเริ่มมีออกซิเจน ไม่ควรปล่อยลูกปลาในช่วงกลางวันที่มีแดดจัด เนื่องจากอุณหภูมิของน้ำจะสูง เพราะเพียงแต่อุณหภูมิของน้ำในบ่อกับน้ำในภาชนะลำเลียงต่างกันเพียง 5 องศา ก็อาจทำให้ปลาช๊อกตายได้เช่นกัน นอกจากนี้ไม่ควรปล่อยปลาในช่วงตั้งแต่เที่ยงคืนถึงเช้า เพราะช่วงเวลาดังกล่าวจะมีออกซิเจนต่ำที่สุด โดยเฉพาะบ่อที่มีการใส่ปุ๋ย
ส่วนในกรณีที่จำเป็นต้องปล่อยลูกปลาดุกบิ๊กอุยลงเลี้ยงในช่วงเวลาที่อากาศร้อน ควรเอามือตีกวนน้ำในบ่อที่ปลาจะอยู่ใหม่ เพื่อให้ความร้อนของผิวน้ำไม่ต่างกับน้ำที่อยู่ในระดับลึกมากนัก พร้อมกันนั้นให้เอาภาชนะที่ลำเลียงปลาแช่ลงในบ่อ เพื่อปรับอุณหภูมิของน้ำในบ่อกับน้ำในภาชนะลำเลียงให้ใกล้เคียงกันมากที่สุด แล้วจึงค่อยๆ เปิดภาชนะให้ปลาว่ายออกจนหมดแล้วจึงเอาภาชนะ
การปล่อยลูกปลาลงเลี้ยงในบ่อไม่ควรให้หนาแน่นเกินไป โดยอัตราการปล่อยจะขึ้นอยู่กับขนาดของลูกปลา ปริมาณน้ำที่ใช้ ชนิดอาหาร ขนาดของบ่อ และระบบการเปลี่ยนถ่ายน้ำ ซึ่งอัตราการปล่อยปลาดุกบิ๊กอุยลงเลี้ยงในบ่อดินที่เหมาะสมคือ ลูกปลาขนาด 2-3 เซนติเมตร ควรปล่อยในอัตราประมาณ 40-100 ตัวต่อตารางเมตร แต่โดยทั่วไปจะปล่อยในอัตรา 50 ตัวต่อตารางเมตร ซึ่งเป็นอัตราที่จะทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการจัดการน้อยที่สุด สำหรับบ่อที่มีการถ่ายน้ำได้สะดวกอาจจะเพิ่มจำนวนปลาให้มากกว่านี้เล็กน้อยก็ได้ แต่ไม่ควรปล่อยให้มากเกินไปจนแน่นบ่อ เพราะจะทำให้ปลาเจริญเติบโตช้าและทำอันตรายกันเอง ส่วนลูกปลาที่น้ำมาปล่อยจะต้องปกติ ครีบและหางไม่กร่อน ว่ายน้ำรวดเร็ว แข็งแรง และไม่ลอยหัวตั้ง
ก่อนปล่อยปลาลงเลี้ยงจะต้องทำการปรับอุณหภูมิของน้ำในภาชนะลำเลียงลูกปลากับน้ำในบ่อให้ใกล้เคียงกัน โดยการเอาน้ำในบ่อที่จะปล่อยปลาค่อยๆ เติมลงไปในภาชนะที่บรรจุปลา เพื่อให้ปลาได้ปรับตัวเข้ากับน้ำที่จะอยู่ใหม่เสียก่อน จนสังเกตเห็นว่า ลูกปลาไม่มีอาการช็อกน้ำหรือนอนนิ่งอยู่ตามก้นภาชนะลำเลียง แล้วจึงจุ่มภาชนะที่บรรจุปลาลงในบ่อที่ปลาจะอยู่ใหม่ ให้ปลาค่อยๆว่ายออกเองอย่างช้าๆ หากภาชนะบรรจุปลาเป็นถุงพลาสติก ก่อนปล่อยปลาลงเลี้ยงให้นำถุงลูกปลาไปลอยไว้ในบ่อที่จะปล่อยอย่างน้อย 20 นาที จากนั้นจึงเปิดปากถุงให้น้ำค่อยๆ ไหลเข้าไปในถุงประมาณครึ่งหนึ่งของน้ำในถุง ปล่อยให้ลูกปลาปรับตัวสักระยะหนึ่ง แล้วรวบปากถุงจุ่มลงในบ่อแล้วค่อยๆ ยกกันถุงขึ้น อย่ายกถุงลูกปลาขึ้นเทเหนือน้ำเพราะลูกปลาอาจติดค้างอยู่ในถุงได้
หลังจากปล่อยลูกปลาเสร็จให้ใช้น้ำยาฟอร์มาลีนที่มีความเข้มข้นประมาณ 40 ส่วนในล้านส่วน สาดให้ทั่วบ่อ การทำให้น้ำในบ่อมีน้ำยาฟอร์มาลีน 40 ส่วนในล้านส่วนนั้น ให้ยึดหลักน้ำ 1 ลูกบาศก์เมตรต้องใช้น้ำยา 4 ลูกบาศก์เซนติเมตร ดังนั้นถ้าใน บ่อมีน้ำอยู่ 1,000 ลูกบาศก์เมตรจะต้องใช้น้ำยา 4 ลิตร ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันเชื้อโรคที่อาจติดมากับตัวปลาและจากบ่อเก่าที่เคยเลี้ยงปลามาก่อน ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อปลาที่นำมาเลี้ยงใหม่ได้ ในตอนเย็นของวันที่ปล่อยปลายังไม่ต้องให้อาหาร ควรเริ่มให้อาหารหลังจากปล่อยปลาไปแล้ว 1 คืน หลังจากสาดน้ำยาฟอร์มาลีน 1 วัน ให้เพิ่มน้ำในบ่อให้สูงกว่าเดิมประมาณ 10 เซนติเมตร นอกจากนี้ควรทำร่มเงาให้กับลูกปลาได้หลบแสงแดดในช่วงแดดจัดๆ ด้วย เพราะอุณหภูมิสูงจะเป็นอันตรายต่อลูกปลา ซึ่งอาจทำร่มเงาให้เป็นจุดๆ ภายในบ่อ
No comments