การอนุบาลลูกปลาในบ่อซีเมนต์
บทความ > การเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุย > การอนุบาลลูกปลาดุกบิ๊กอุย > การอนุบาลลูกปลาในบ่อซีเมนต์
การอนุบาลลูกปลาในบ่อซีเมนต์
การอนุบาลลูกปลาบิ๊กอุยในบ่อซีเมนต์จะทำให้สังเกตลูกปลาในบ่อได้ง่าย สะดวกในการถ่ายเปลี่ยนน้ำ การปฏิบัติดูแลรักษาและการคัดขนาดปลาที่โตออกสามารถทำได้ง่าย แต่เนื่องจากในบ่อซีเมนต์ไม่มีอาหารธรรมชาติเพียงพอ จึงทำให้ลูกปลามีอัตราการเจริญเติบโตช้ากว่า การอนุบาลในบ่อดิน นอกจากนี้ยังอาจทำให้เกิดบาดแผลที่ปาก ลำตัว และครีบของลูกปลา อันเป็นต้นเหตุให้เกิดโรคได้ง่ายขึ้น
ลักษณะและขนาดของบ่อ
ลักษณะของบ่ออนุบาลลูกปลาดุกบิ๊กอุยที่เป็นบ่อซีเมนต์ควรสร้างให้มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า โดยสร้างลอยขึ้นมาบนพื้นดิน ความสูงของบ่อประมาณ 50 เซนติเมตร พื้นกันบ่อเรียบและลาดเอียงไปทางหัวและท้ายบ่อเล็กน้อย ทั้งนี้เพื่อความสะดวกต่อการระบายน้ำและรวบรวมลูกปลา ด้านในของบ่อฉาบปูนให้เรียบลื่น ไม่ขรุขระ และควรมีหลังคาคลุม บ่อไว้ด้วยเพื่อป้องกันแสงแดดและฝน
สำหรับขนาดของบ่อจะมีตั้งแต่ขนาด 1-20 ตารางเมตร ซึ่งเป็นขนาดที่สามารถดูแลได้ง่าย เพราะเป็นบ่อขนาดเล็ก ทำให้ สามารถสังเกตเห็นอาการผิดปกติของปลาได้ทั่วถึง แต่โดยทั่วไปแล้วบ่อที่ใช้อนุบาลลูกปลาดุกบิ๊กอุยนิยมใช้บ่อที่มีพื้นที่ไม่เกิน 2-5 ตารางเมตร เพราะจะดูแลและทำความสะอาดบ่อได้ง่าย ประกอบกับจำนวนลูกปลาที่ปล่อยต่อ 1 บ่อมักจะปล่อยไม่เกิน 10,000-25,000 ตัว ซึ่งไม่มากและน้อยเกินไปในการจับปลาขายในแต่ละครั้ง ส่วนการอนุบาลในบ่อขนาดใหญ่และปล่อยลูกปลาจำนวนมาก เมื่อถึงเวลาจับขายในปริมาณน้อยๆจะต้องแบ่งจับ ส่งผลให้ปลาที่เหลืออยู่บอบช้ำมาก ทำให้มีโอกาสติดเชื้อและตายได้ในที่สุด
การเตรียมบ่อ
บ่อซีเมนต์ที่สร้างขึ้นใหม่ ก่อนใช้ต้องกำจัดความเป็นพิษของปูนออกไปเสียก่อน โดยใส่น้ำให้เต็มบ่อและใส่ น้ำส้มสายชูลงในบ่อทิ้งไว้ 3-4 วัน จึงระบายน้ำทิ้งและล้างทำความสะอาดให้เรียบร้อย ตากไว้ให้แห้ง แล้วทาสีภายในบ่อด้วย สีฟ้าแล้วตากแดดไว้ให้แห้ง ก่อนปล่อยลูกปลาจะต้องล้างอีกครั้งหนึ่ง ส่วนบ่อเก่าที่เคยใช้อนุบาลลูกปลามาแล้ว ควรล้างทำความสะอาดแล้วราดด้วยฟอร์มาลีนหรือด่างทับทิมเข้มข้น แล้วตากบ่อไว้ให้แห้ง
หลังจากนั้นเติมน้ำลงในบ่อให้สูงประมาณ 5-7 เซนติเมตร เพื่อทำการเพาะไรแดงไว้สำหรับเป็นอาหารของลูกปลา และเติมอาหารสำเร็จรูปซึ่งอาจจะใช้อาหารไก่หรืออาหารสุกรชนิดเม็ดใน อัตราส่วนอาหาร 120 กรัมต่อตารางเมตร โดยหว่านให้ทั่วบ่อ ทิ้งไว้ 1 คืน แล้วเติมน้ำให้สูงขึ้นที่ระดับ 15-20 เซนติเมตร แล้วนำไรแดงที่ยังมีชีวิตอยู่มาปล่อยลงในบ่อในอัตราส่วนไรแดง 100 กรัมต่อเนื้อที่บ่อ 10 ตารางเมตร แล้วทิ้งไว้ 2 วัน ในระหว่างนี้ ไรแดงก็จะขยายพันธุ์ ซึ่งการขยายพันธุ์ของไรแดงจะเป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยสังเกตได้จากตามขอบบ่อจะมีไรแดงเกาะกลุ่มก้อนจำนวนมาก การปล่อยลูกปลา หลังจากเพาะไรแดงไว้เรียบร้อยแล้ว จึงนำลูกปลาดุกบิ๊กอุยที่ได้จากการเพาะพันธุ์มาปล่อยลงในบ่อ อัตราการปล่อยลูกปลาเมื่อเริ่มอนุบาลควรอยู่ระหว่าง 3,000-5,000 ตัว ต่อตารางเมตร
ก่อนนำลูกปลามาปล่อยควรได้ผ่านการฆ่าเชื้อที่อาจติดมากับลูกปลาเสียก่อน ส่วนการขนย้ายลูกปลาจากบ่อฟักมายังบ่ออนุบาลจะต้องทำอย่างระมัดระวัง เนื่องจากลูกปลาวัยอ่อนไม่สามารถต้านทานต่อการกระทบกระเทือนที่รุนแรงได้ และอย่าทำให้ลูกปลาตกใจเพราะลูกปลาจะเกิดความเครียด ส่งผลให้ลูกปลาอ่อนแอ และติดโรคพยาธิได้ง่ายในภายหลัง
ก่อนปล่อยลูกปลาควรจะเตรียมน้ำและให้อากาศไว้ก่อน อย่างน้อย 12 ชั่วโมง และก่อนปล่อยลูกปลาลงบ่อจะต้องมีการปรับระดับอุณหภูมิของน้ำในถุงและในบ่อให้ใกล้เคียงกันก่อน โดยนำถุงที่บรรจุลูกปลาไปลอยไว้ในบ่อประมาณ 30 นาที จากนั้นจึงเปิดถุงและค่อยๆ เทลูกปลาออกจากถุง โดยเทลูกปลาที่บริเวณมุมบ่อด้านใดด้านหนึ่ง หลังจากนั้นลูกปลาจะเริ่มว่ายน้ำเข้าหาบริเวณขอบบ่อหรือมุมบ่อ และมีลูกปลาบางส่วนยังคงกองอยู่ที่เดิม ซึ่งปลากลุ่มนี้เป็นพวกที่อ่อนแอหรือบอบซ้ำจากการขนส่ง จึงควรดูดออกทิ้งไป
ข้อควรระวังในขั้นตอนการปล่อยลูกปลาคือ อย่าเปิดถุงทิ้งไว้นาน เพราะออกซิเจนในน้ำจะลดต่ำลงอย่างรวดเร็วเนื่องจาก มีลูกปลาอยู่หนาแน่นมากทำให้ลูกปลาตายได้ง่าย
No comments