การเตรียมสถานที่
บทความ > การเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุย > การขุดบ่อเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุย
การเตรียมสถานที่
หลังจาการวางผังบนพื้นดินแล้ว งานขั้นแรกที่จะต้องเตรียมเพื่อการขุดบ่อเลี้ยงปลาคือ การตัดถาง ต้นไม้ เก็บเศษกิ่งไม้ออกให้หมด และอาจจะต้องทำการปรับปรุงพื้นที่ให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสมจะขุดบ่อเลี้ยงปลา เพื่อสะดวกใน การปักหลักวางแนวบ่อหรือคันบ่อ แม้กระทั่งตอไม้ต่างๆ ก็ต้องขุด และเผาไฟสุมตอบริเวณที่จะถมเป็นคันบ่อเพื่อกักเก็บน้ำ เพราะกิ่งไม้ตอไม้ที่จมอยู่ใต้ดินนั้นจะเป็นทางที่จะทำให้น้ำรั่วซึมได้ง่าย ดังนั้นก่อนที่จะลงมือขุดควรได้เก็บเศษไม้ตอไม้ออกให้หมดเสียก่อน
รูปร่างและขนาดของบ่อที่เหมาะสม รูปร่างของบ่อเลี้ยงปลาจะไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อการเจริญเติบโตของปลา แต่จะมีผลกระทบต่อปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับอัตราการเจริญเติบโต ได้แก่ การกินอาหารของปลา คุณภาพน้ำ ระบบนิเวศน์ เป็นต้น โดยทั่วไป รูปร่างของบ่อที่ใช้เลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุยนิยมใช้บ่อรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทั้งนี้เพราะสะดวกต่อการดูแลรักษา การให้อาหาร การควบคุมน้ำ รวมถึงการตีอวนจับปลา หรือแม้แต่การจับปลาโดยการระบายน้ำ ออกหมดปลาก็จะไหลไปรวมกันได้ดีกว่าบ่อรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส
ส่วนขนาดของบ่อนั้นขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของการใช้ประโยชน์ ความต้องการของเกษตรกร และพื้นที่ในการสร้างบ่อ ซึ่งบ่อปลาที่ดีจะต้องมีการใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า ราคาก่อสร้างถูก มีการส่งน้ำและระบายน้ำได้สะดวก และสะดวกแก่การจัดการ
ดังนั้นควรสร้างบ่อเลี้ยงปลาให้มีขนาดพอเหมาะตามกำลังแรงงาน และเครื่องมือ เพื่อให้การผลิตมีประสิทธิภาพสูงสุด ไม่ควรสร้าง บ่อเลี้ยงปลาให้มีขนาดใหญ่เกินความสามารถที่จะจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ เพราะบ่อขนาดใหญ่จะทำให้ยากต่อการดูแลรักษา ให้อาหารไม่ทั่วถึง เมื่อเกิดปัญหาโรคหรือปรสิต การลงยาจะสิ้นเปลืองมาก เมื่อเกิดน้ำเสียการถ่ายเทน้ำไม่สามารถทำได้ทัน เพราะต้องใช้เวลานาน นอกจากนั้นการจับปลาขายก็ต้องใช้เวลานานหรืออาจต้องจับหลายครั้ง เพราะผู้ซื้อจะซื้อในปริมาณจำกัด แต่ผลผลิตต่อเนื้อที่สูงมาก จึงทำให้ปลาบอบช้ำ แต่ถ้าสร้างบ่อมีขนาดเล็กเกินไปก็จะทำให้เสียพื้นที่คันบ่อมากขึ้นโดยไม่จำเป็น
ขนาดของบ่อที่เหมาะสมต่อการใช้เลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุยคือ บ่อ ที่มีขนาดตั้งแต่ 20 ตารางเมตรขึ้นไปและไม่เกิน 1 ไร่ มีความลึกที่สามารถกักเก็บน้ำได้ไม่ต่ำกว่า 1 เมตร ส่วนความกว้างและความยาวนั้นขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่และลักษณะการใช้งาน แต่อย่างไรก็ตามควรได้พิจารณาจากสภาพพื้นที่เป็นหลักว่าควรขุดบ่อขนาดไหนจึงจะเป็นการใช้พื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด นอกจากนี้บ่อเลี้ยงปลาจะต้องมีทางระบายน้ำเข้าออกได้สะดวก รอบบ่อต้องทำเป็นคันบ่อให้สูงสามารถป้องกันน้ำท่วมได้ และควรล้อมกั้นบนคันบ่อด้วยมุ้งไนล่อนโดยรอบ เพื่อป้องกันปลาดุกบิ๊กอุยหนีออกจากบ่อและป้องกันศัตรูเข้าไปในบ่อ
การขุดบ่อและถมคันบ่อ
ก่อนขุดควรทำเครื่องหมายบนพื้นที่ให้แน่นอนเสียก่อนว่าจะขุดตรงจุดไหน ปัจจุบันการขุดบ่อ นิยมใช้รถแทรกเตอร์ขุด หากเป็นไปได้ควรขุดหน้าดินลึกประมาณ 15-20 เซนติเมตรออกเสียก่อน เพราะดินชั้นนี้มักมีใบไม้ ต้นพืชหรือก้อนหินเล็กๆ ซึ่งไม่เหมาะที่จะนำไปถมดันบ่อ จึงควรขุดดินชั้นดังกล่าวไปไว้นอกเขตคันบ่อ
ดินที่ได้จากการขุดบ่อให้นำไปถมเป็นคันบ่อ ส่วนความสูงของคันบ่อขึ้นอยู่กับความจำเป็นที่จะใช้ป้องกันน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก แต่โดยปกติคันบ่อควรจะยกสูงจากระดับพื้นดินเดิมอย่างน้อย 50 เซนติเมตร และจะต้องคำนึงถึงความแข็งแรงด้วย สันคันบ่อควรมี ความกว้างอย่างน้อย 1.5 เมตร เพื่อให้มีเนื้อที่พอสำหรับปฏิบัติงานเกี่ยวกับการจับปลาและอื่นๆได้สะดวก แต่ถ้ากว้างกว่านี้ก็จะสะดวกต่อการทำงานมากขึ้น ฐานของคันบ่อควรให้ห่างจากขอบบ่อ ประมาณ 1-2 เมตรโดยรอบตัวบ่อทั้งสี่ด้าน การที่ต้องเว้นชานบ่อไว้ก็เพื่อป้องกันการทรุดตัวและการพังทลายของดินคันบ่อ เมื่อถูกฝนชะจะได้ตกลงมาอยู่ที่ชานบ่อโดยไม่ไหลลงสู่ก้นบ่อซึ่งจะทำให้บ่อตื่นเขินเร็วขึ้น ในการขุดบ่อและถมดันบ่อจะต้องทำเป็นเชิงลาดพร้อมกันไปด้วย
เมื่อเริ่มขุดดินขึ้นมาถมเป็นคันบ่อควรได้ทำการกระทุ้งดินที่ถมใหม่ให้แน่น เพื่อจะให้ดินเก่ากับดินใหม่เชื่อมยึดตัวเป็นผืน เดียวกัน น้ำจะไม่สามารถไหลเซาะคันบ่อได้ ดินเหนียวเมื่อได้รับน้ำหนักจากการกระทุ่งจะยุบตัวติดกัน วิธีกระทุ่งให้ทำการกระทุ่งไปพร้อมๆกับการขุดคือ กระทุ้งไปพลางถมไปพลาง ไม่ใช่ถมจนเสร็จแล้วจึงมาทำการกระทุ้ง การถมดินจะต้องถมแผ่หรือเกลี่ยดินให้เชื่อมกันตั้งแต่ฐานดินเดิมให้เต็มฐานส่วนกว้างของดินทั้งหมดให้ เป็นระดับขั้นขึ้นไปจนถึงสันคันบ่อ บนคันบ่อควรปลูกหญ้าเพื่อยึดดินด้วย โดยปลูกหญ้าที่มีรากตื้นๆ เพื่อช่วยลดการพังทลายของดินบนคันบ่อ
No comments